16 พฤษภาคม 2016

จาก (ที่) ท่องเที่ยว กลายเป็นฉากในนวนิยาย

         บางคนมีความฝันอยากท่องเที่ยวรอบโลก บางคนเลือกใช้การเขียนเพื่อบันทึกความทรงจำของการเดินทาง บางคนมีความฝันหลายอย่าง และมีความชอบหลายอย่าง ยิ่งน่ายินดีเมื่อ นันท์นภัส ศรีตระกูลรัตน์ สามารถทำให้หลายความฝันนั้นมารวมกันได้เป็นรูปแบบนวนิยาย ในนามปากกา แอนดารีน
 
นวนิยายรักแนวหวานแหววทุกเรื่องของเธอล้วนมีฉากเป็นสถานที่ที่เธอไปเยือนทั้งสิ้น ในคราแรกไม่ได้ตั้งใจหรอกว่าจะนำมาใช้ในงานอะไร เพราะตอนนั้นเธอยังไม่เริ่มต้นใช้คำว่านักเขียนนำหน้าเลย แค่ชอบเที่ยวและช่างคิดช่างฝัน จึงหมั่นหยอดจินตนาการลงไปในแต่ละสถานที่ จนกลายเป็นนวนิยายเรื่องแรก ยากแค่ไหนให้รักอีกครั้ง เรื่องราวเกิดขึ้นที่เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเมืองที่เธอเดินทางไปเรียนต่อปริญญาโท ด้าน วารสารศาสตร์ และยังมีอีกหลายเรื่องตามมา เพราะ(สถานที่)เที่ยว

“เคยทำงานนักข่าวอยู่ 2 ปี แล้วลาออกไปเรียนต่อและเริ่มอยากเขียนอีกครั้ง ตอนนั้นก็มีโอกาสไปเที่ยวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ พอไม่ได้เขียนข่าวมาหลายปี อยู่ดีๆ ก็อยากเขียนขึ้น ก็เอาเมืองที่ตัวเองไปเที่ยวมาเขียนเป็นฉากในนวนิยาย เพราะคิดว่าถ้าเราเอามาเขียนหนังสือท่องเที่ยวมีนจะดูทื่อๆ ไม่น่าสนใจเท่าไหร่ จึงลองเขียนให้เหมือนเรื่องเล่าไม่ลงรายละเอียดให้น่าเบื่อ”
แอนดารีนมีผลงานตามมาอีก 2 เรื่อง คือ แก้วกรงพยัคฆ์ และ Love Journey…ทริปนี้มีรัก ซึ่งล้วนเกิดใน 3 ประเทศที่เธอเดินทางท่องเที่ยว คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน และกำลังเขียนประเทศที่ 4 คือ กัมพูชา เธอเล่าอย่างออกรสว่า เป็นประเทศที่น่ากลัว ไม่อยากไป แต่เมื่อไปแล้วกลับเกิดความประทับใจในน้ำใจของผู้คน ประสาทหินนครวัดจึงหลายเป็นจุดเริ่มต้นของพระเอกนางเอกเรื่องมนตร์รักในแดนใจ
ฉากนวนิยายของแอนดารีนมักนำจุดเด่นของแต่ละสถานที่ที่เธอประทับใจและจับตัวละครเสริมเข้าไปในฉาก ซึ่งเรื่องราวส่วนใหญ่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเธอ และประสบการณ์จากการท่องเที่ยวคนเดียวทำให้ได้ทำอะไรด้วยตัวเอง ได้เพื่อนใหม่ที่นำมาใส่เป็นตัวละครเพิ่มและประสบการณ์ใหม่ๆ ในการเปิดโลกจินตนาการ
“เหมือนเอาชีวิตเราช่วงนั้นของเรามาใส่ เช่น เรื่องยากแค่ไหนให้รักอีกครั้ง เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย เหนื่อยยังไง ได้เจออะไรบ้าง สิ่งใกล้ๆ ตัวมาเขียน ถ้าเรารู้เรื่องนั้นจริงๆ และลงไปสัมผัสกับสถานที่เข้าไปมันจะเห็นมุเมเล็กมุมน้อย เราจะเขียนน่าสนใจสมจริงมากกว่าเห็นรูปหรืออ่านจากหนังสืออย่างเดียว”
หลังจากลองนำผลงานเรื่องแรกเผยแพร่ลงโลกออนไลน์ก็มีผู้อ่านติดตาม ไม่นานสำนักพิมพ์ในเครือสถาพรบุ๊คส์ ก็ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ พิมพ์เป็นหนังสือ เธอจึงเล็งเห็นข้อดีของการเอาผลงานลงออนไลน์ คือ มีคนอ่านช่วยตรวจบางครั้งข้อมูลผิดพลาดไม่สมจริงก็สามารถปรับแก้ได้  และฟีดแบ็กก่อนที่จะพิมพ์ผลงาน หากแต่ไม่จำเป็นต้องแก้ไชตามคำแนะนำทั้งหมด เพราะเนื้อเรื่องต้องมีจุดยืนเป็นของตัวเอง แต่นักเขียนก็ต้องฟังเสียงจากกลุ่มคนอ่านทำให้สามารถปรบเรื่องให้เข้ากันได้ คนอ่านชอบ นักเขียนก็ชอบด้วย
“ส่วนตัวชื่นชอบนิยายของคุณหิ่งฉัตร คุณศรีเฉลิม สุขประยูร เพราะนิยายทุกเรื่องจบแบบมีความสุขทั้งหมด เป็นต้นแบบให้กับงาน” ของเราต้องจบให้มีความสุขเช่นกัน ไม่จำเป็นต้องมีตัวร้ายส่วนตัวไม่ชอบอ่านเรื่องซีเรียสๆ รู้สึกว่าชีวิตจริงบางคนก็ไม่ได้มีอะไรที่สวยงาม และทำไมเราต้องไปย้ำเตือนว่าชีวิตเราไม่สวยงาม พอมาอยู่ในโลกนิยายก็ให้มีความสุขแล้วกัน”
ปัจจุบันแอนดารีนทำงานประจำ แต่เธอยังหาเวลาว่างหมั่นเขียนนิยาย เพราะเธอคิดว่า นักเขียนเป็นกำไรชีวิต
“ตอนนี้พยายามเขียนให้ได้สัปดาห์ละ 1 ตอน ไม่ได้คิดจริงจังถึงขั้นออกจากงาน เพราะงานประจำก็สำคัญเหมือนกัน ประสบการณ์ที่ได้เจอผู้คนทำให้งานเขียนของเรามีมิติ นักเขียนบางคนเขียนวนิยายอย่างเดียวได้ แต่เราไม่มีประสบการณ์มากเหมือนเขา เราต้องคุยกับคนบ้าง ทำให้รู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไรเอามาเขียนเป็นคาแรกเตอร์ให้กับตัวละครได้ ตอนนี้ทำควบคู่กับงานประจำเลยคิดว่าทำไปด้วยก็มีความสุข เขียนตอนที่เราคิดออกมากกว่าไม่ได้มานั่งเค้นให้ตัวเองเขียนอย่างจริงจัง”
และแม้ว่างานประจำค่อนข้างจะรัดตัว หากแต่แอนดารีนยังหาเวลาไปท่องเที่ยว และยังเดินทาง...เขียนนวนิยายต่อไป

ขอขอบคุณ หนังสือโพสต์ทูเดย์